Image: Photos by James Thompson

ซ้าย: หมอเฮนรี่ ไบรเดนธอล กำลังแบ่งปันถึงงานรับใช้ของท่าน ขวา: หมอเฮนรี่ กำลังนำอธิษฐานเปิดการนมัสการ ณ คริสตจักรพระคุณชีวิตใหม่

การเข้าถึงชนเผ่ายิวเมี่ยน

“งานมิชชั่นทุกอย่างต้องมีรูปภาพ“ หมอเฮนรี่พูดพลางลุกขึ้นช้า ๆ จากโต๊ะในห้องครัวที่เรานั่งคุยกัน และเดินแบบตัวแข็ง ๆ ไปยังอีกห้องหนึ่ง “คุณต้องมีรูปภาพ” ท่านกล่าวและคิดว่าผมก็เหมือนคริสตจักรที่ท่านไปเยี่ยมเยียนขณะกลับไปพักที่อเมริกา ที่อยากเห็นภาพของผู้คนและสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านไปพบ เราพูดคุยถึงในช่วง 2 ปีแรกของงานรับใช้ของท่าน ราวปี 1970

ต้น ๆ ที่ตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศไทย-ลาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประกาศในกลุ่มชนเผ่ายิวเมี่ยน ท่านอาศัยอยู่ในกระท่อมบนภูเขา จะพักอยู่ในแต่ละหมู่บ้านเป็นวันถึงเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับการต้อนรับคนของในหมู่บ้าน หมอเฮนรี่ได้ให้การรักษาชาวบ้านด้านสุขภาพ แม้จะมีเครื่องมือจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของท่านคือการประกาศพระกิตติคุณ

หมอเฮนรี่เดินกลับมาพร้อมแฟ้มขนาดใหญ่ภายในบรรจุแผ่นสไลด์อายุกว่าครึ่งศตวรรษจำนวนมากมาย สไลด์เหล่านี้เป็นภาพกระท่อมเล็ก ๆ ปลูกอยู่บนพื้นดิน และชนเผ่าที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสี เป็นช่วงชีวิตแห่งความสำเร็จของหมอเฮนรี่ เช่น เมื่อคราวที่ท่านได้ช่วยชีวิตหญิงชาวยิวเมี่ยน โดยแบกหญิงผู้นี้บนหลังของท่านเพื่อไปส่งยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ขณะที่ไปได้ครึ่งทาง หมอเฮนรี่ได้ขอความช่วยเหลือจากรถปิกอัพคันหนึ่ง ให้นำเธอไปส่งในระยะทางที่เหลือ ทำให้ไปถึงทันเวลา หญิงผู้นี้อยู่ในอาการโคม่ามากว่าสัปดาห์ แต่ทีมรักษาสามารถช่วยชีวิตเธอได้ และท้ายที่สุด หมอเฮนรี่ได้รับรู้ภายหลังว่าหญิงผู้นี้ได้เป็นคริสเตียน

ยังมีความผิดหวังมากมายที่หมอเฮนรี่ต้องเผชิญเช่นกัน บางหมู่บ้านไม่ยอมรับท่านและบังคับให้ท่านออกจากพื้นที่ บางหมู่บ้านต้อนรับท่านในฐานะแพทย์ แต่ไม่ใช่นักเทศน์ แม้ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ แต่ในช่วง 2 ปีที่หมอเฮนรี่ ได้ใช้ชีวิตอยู่กับชาวยิวเมี่ยน นำไปสู่มิตรภาพและสายสัมพันธ์ ซึ่งท่านได้รักษาไว้ตลอดหลายทศวรรษต่อมา หลายปีต่อมาท่านได้ช่วยผู้เชื่อชาวยิวเมี่ยนก่อตั้งคริสตจักรในเชียงใหม่

การสร้างวิทยาลัยพระคริสตธรรมแห่งแรกในกรุงเทพ

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 คริสเตียนในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนน้อยประสบปัญหา คือคริสตจักรขาดแคลนนักเทศน์ และหลายคนที่ตัดสินใจร่วมงานรับใช้ มีโอกาสน้อยในการฝึกฝนด้านศาสนศาสตร์ที่เป็นทางการ บางคนไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายสูง และหลายคนเลือกที่จะทำงานต่อที่นั่นหลังจบการศึกษา

ก่อนปี 1970 ช่วงต้น กรุงเทพมหานครไม่มีวิทยาลัยพระคริสตธรรมหรือโรงเรียนพระคัมภีร์ ที่มีการสอนถึงขั้นปริญญา แม้องค์กรมิชชั่นและคณะนิกายหลายแห่งได้เริ่มโรงเรียนพระคริสตธรรมขนาดเล็กขึ้น แต่ผู้เชื่อท้องถิ่นและมิชชันนารี รู้สึกว่ายังมีความต้องการสถาบันพระคริสตธรรมหลักในเมืองหลวง ในปี 1970 นิมิตนี้ก็เป็นจริง เมื่อผู้เชื่อชาวไทยได้ถวายทรัพยากรที่จำเป็นเช่น อาคาร และเงินทุน องค์กรโอเอ็มเอฟ รวมทั้งคริสเตียน และสมาพันธ์มิชชันนารีตัดสินใจทำพันธกิจร่วมกันในโครงการนี้ เพื่อจัดตั้งสถาบันการศึกษาไม่สังกัดคณะนิกาย สิ่งที่ตามมาก็คือสถาบันที่ตั้งขึ้นใหม่จำต้องมีผู้อำนวยการ กรรมการบริหารวิทยาลัยพระคริสตธรรมกรุงเทพที่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นใหม่นี้ขอให้หมอเฮนรี่รับใช้เป็นผู้นำคนแรก และเป็นอาจารย์เต็มเวลาเพียงคนเดียว ซึ่งท่านก็ได้ตอบรับ หลังจากกลับมากรุงเทพฯ จากการทำงานร่วมกับพี่น้องชาวยิวเมี่ยน หมอเฮนรี่ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในอาคารสองชั้นเก่า ๆ ซึ่งเป็นทั้งหอพัก ห้องเรียน และสำนักงานแห่งแรกของพระคริสตธรรม

หมอเฮนรี่ (ซ้ายสุด) กำลังยืนถ่ายรูปกับนักศึกษาพระคริสตธรรมกรุงเทพรุ่นแรกในปี คศ.1971 ซึ่งมีอาจารย์ชุมแสง เรืองเจริญสุข อยู่ด้วย (คนที่ 4 จากซ้าย)

Image: Courtesy of Bangkok Bible Seminary

หมอเฮนรี่ (ซ้ายสุด) กำลังยืนถ่ายรูปกับนักศึกษาพระคริสตธรรมกรุงเทพรุ่นแรกในปี คศ.1971 ซึ่งมีอาจารย์ชุมแสง เรืองเจริญสุข อยู่ด้วย (คนที่ 4 จากซ้าย)

การสอนศิษยาภิบาลชาวไทย รุ่นต่อรุ่น

ภาพชุดต่อไปเป็นภาพของหมอเฮนรี่เองในวัยสามสิบปลายๆ ยืนกับชายหนุ่มชาวไทยในชุดขาวผูกไท 5 คน คนเหล่านี้คือนักศึกษากลุ่มแรกของพระคริสตธรรมกรุงเทพ ในปี 1971 หนึ่งในนั้นคืออาจารย์ชุมแสง เรืองเจริญสุข ผู้เชื่อชาวไทยที่เติบโตในครอบครัวคริสเตียน (คุณปู่ของท่านเป็นคริสเตียนที่อพยพมาจากประเทศจีน) อาจารย์ชุมแสงสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ให้มากขึ้น และผู้ปกครองในคริสตจักรของท่านได้แนะนำให้เรียนกับหมอชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งวิทยาลัยพระคริสตธรรมนี้ ผู้ปกครองท่านนั้นยืนยันว่า คุณหมอเป็นดั่ง “สารานุกรมพระคัมภีร์”

เมื่ออาจารย์ชุมแสงมาถึงวิทยาลัยในตอนต้นภาคเรียน ท่านเป็นนักศึกษาคนที่สองที่มาพักอยู่ในหอพัก และหลังจากนั้นอีกไม่นานท่านก็ได้รู้ว่า จะมีนักศึกษาอีกเพียงสามคนที่จะเข้ามาเรียนด้วย อาจารย์ชุมแสงจำได้ว่าท่านได้ถามตัวเองว่า “ถ้า (หมอคนนี้) เก่งจริง ทำไมถึงมีนักศึกษาน้อยเช่นนี้” และ “ทำไมอาคารถึงได้ทรุดโทรมอย่างนี้”

แม้ว่าในตอนต้นจะเต็มไปด้วยความผิดหวัง อาจารย์ชุมแสงซึ่งในขณะนี้อยู่ในวัย 72 ปี เรียกช่วงเวลาที่ใช้ในพระคริสตธรรมกรุงเทพว่าเป็น “การหล่อหลอมที่พิเศษ” เพราะการที่หมอเฮนรี่พักรวมอยู่ด้วยกับบรรดานักศึกษาในอาคารเก่า ๆ ทรุดโทรมหลังนั้น ทำให้มีการสนทนาเกี่ยวกับจิตวิญญาณเลยเวลาเรียนบ่อย ๆ อาจารย์ชุมแสงเล่าว่า “พวกเราได้อภิปรายกัน คำถามแล้วคำถามเล่าในเวลากินข้าว” หลังจาก 5 ปี ของการศึกษาที่พระคริสตธรรมกรุงเทพ อาจารย์ชุมแสงเป็นศิษยาภิบาล ผู้สอนในสถาบันพระคริสตธรรม และผู้อำนวยการก่อตั้งมูลนิธิวิคลิฟแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน BBS คือวิทยาลัยพระคริสตธรรมกรุงเทพ อาคารทรุดโทรมหลังเก่าได้ถูกแทนที่โดยอาคารใหม่ที่มีห้องเรียนและสื่อการเรียนการสอนครบถ้วน ห้องสมุดที่เพียบพร้อม และห้องประชุมขนาดใหญ่ จากเดิมที่เคยมีอาจารย์สอนเต็มเวลาเพียงคนเดียว ปัจจุบันมีคณาจารย์มากมาย ผู้อำนวยการปัจจุบันคือ ศจ.ดร. มาโนช แจ้งมุข ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาลูกศิษย์ของอาจารย์หมอเฮนรี่ ทำการสอนทั้งภายในวิทยาลัย และออนไลน์แก่นักศึกษาไทย เกือบหนึ่งพันคน

ซ้าย: ภาพของหมอเฮ็นรี่ ไบรเดนธอล ติดที่พระคริสตธรรมกรุงเทพ  ขวา: ชั้นเรียนในพระคริสตธรรมกรุงเทพ

Image: Photos by James Thompson

ซ้าย: ภาพของหมอเฮ็นรี่ ไบรเดนธอล ติดที่พระคริสตธรรมกรุงเทพ ขวา: ชั้นเรียนในพระคริสตธรรมกรุงเทพ

หลังจากเกษียณอายุจากวิทยาลัยพระคริสตธรรมกรุงเทพ ในปี 1995 หมอเฮนรี่ ได้ย้ายจากกรุงเทพฯมาจังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้ช่วยในการจัดตั้งศูนย์พระคริสตธรรมเชียงใหม่ ซึ่งในระยะแรก นักศึกษาใช้บ้านของหมอเฮนรี่เป็นที่เรียน ศูนย์ฯได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดเป็นพระคริสตธรรมเชียงใหม่ ซึ่งหมอเฮนรี่ได้ทำการสอนจนถึงปี 2018 ปัจจุบันวิทยาลัยมีนักศึกษาประมาณ 150 คน

ไม่ว่าจะในวิทยาลัยพระคริสตธรรมกรุงเทพหรือเชียงใหม่ อาจารย์หมอเฮนรี่ ได้ย้ำเตือนอยู่เสมอว่า นักศึกษาทุกคนต้องนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติ นักศึกษาได้ร่วมกับท่านในการบุกเบิกคริสตจักร ซึ่งรวมถึงคริสตจักรชีวิตใหม่มักกะสันในกรุงเทพ ซึ่งท่านได้ก่อตั้งร่วมกับมิชชันนารี อีกท่านหนึ่ง คริสตจักรได้เติบโตมากมายและหลังจากนั้นอีกไม่นาน ก็มีคริสตจักรชีวิตใหม่อีกหลายแห่งเกิดขึ้นทั้งในเมืองและที่อื่น ๆ คริสเตียนไทยรวมทั้งลูกศิษย์ของหมอเฮนรี่บางท่านได้มีส่วนเป็นผู้นำ และพัฒนาคริสตจักรจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

“วรรณกรรมที่ดีเยี่ยม”

หมอเฮนรี่วางรูปถ่ายทั้งหมดลงและหันไปหยิบหนังสือเล่มเล็ก ๆ เขียนด้วยภาษาไทย มีภาพวาดของพระเยซูอยู่ด้านหน้า “ผมไม่ต้องการเทศนาให้คุณฟัง” ท่านพูดขณะที่เปิดหนังสือเล่มเล็กนั้น ผมรู้ดีว่านั่นเป็นเพียงคำกล่าวที่คุณหมอตั้งใจจะทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย เพราะเห็นได้ชัดว่า คุณหมอต้องการเทศนาให้ผมฟัง เช่นเดียวกับที่ท่านได้ทำมาแล้วกับคนนับไม่ถ้วน ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาพร้อมกับใบปลิวที่อยู่ในมือ ผมตอบท่านไปว่าไม่เป็นไร และจากนั้นหมอเฮนรี่ก็เริ่มพูดถึงแผนการแห่งความรอดของพระเจ้าโดยละเอียด

เมื่อคริสเตียนไทยคิดถึงหมอเฮนรี่ บ่อยครั้งที่พวกเขาคิดถึงใบปลิวเหล่านี้ ตั้งแต่แรกหมอเฮนรี่จะมีใบปลิวเหล่านี้เสมอในกระเป๋าแพทย์ พร้อมหูฟัง และปรอทวัดไข้ ขณะที่ทำงานที่พระคริสตธรรมกรุงเทพ ท่านและนักศึกษาหลายคนใช้เวลาทุกวันอาทิตย์ช่วงบ่าย แจกใบปลิว ร้องเพลง และพูดคุยกับผู้คนในสวนลุมพินี หมอเฮนรี่ยังได้แจกใบปลิวในเชียงใหม่ และในประเทศเพื่อนบ้านที่ท่านมีโอกาสไปเยี่ยมเยียน จนครั้งหนึ่งท่านถูกผู้มีอำนาจในประเทศเวียดนามควบคุมตัวไว้เป็นเวลาถึง 3 วัน โทษฐานที่แจกใบปลิว หมอเฮนรี่ชี้ไปบนข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่เขียนไว้ในหนังสือเล็ก ๆ เริ่มจาก 1 ยอห์น 5 และเน้นที่ข้อ10 “คนที่เชื่อพระบุตรของพระเจ้าก็มีพยานอยู่ในตัว”

“ในประเทศไทยผู้คนไม่ค่อยเข้าใจความหมายของคำว่า ‘เชื่อใน’ ” หมอเฮนรี่กล่าว “เชื่อในหมายถึงไว้วางใจ” ท่านอธิบายว่า การเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับคนไทย การเพิ่มผู้อยู่เหนือธรรมชาติอีกสักองค์หนึ่งเข้าไปในพระหลายองค์ที่มีอยู่แล้วก็ไม่ได้เป็นสิ่งน่าท้าทายอะไร แต่การเชื่อที่วางบนการสละชีวิตของพระเยซูเท่านั้นบ่อยครั้งกลับเป็นเรื่องที่ท้าทาย ในอดีตนักศึกษาที่เคยเดินแจกใบปลิวร่วมกับหมอเฮนรี่ในกรุงเทพฯ จำได้ดีว่ารู้สึกอึดอัดในตอนเริ่มต้น คนหนึ่งเล่าว่า เขารู้สึกอายมากเมื่อต้องเข้าไปปะปนกับผู้คนที่วิ่งออกกำลังกายอยู่ในสวนสาธารณะ แต่ก็มีหลายคนที่บอกว่า พวกเขาค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะไม่ละอายในข่าวประเสริฐ แม้การตอบสนองในเชิงบวกจะมีน้อยมาก แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่พวกเขาคุยด้วยได้มาเป็นคริสเตียนในที่สุด

การประกาศพระกิตติคุณในลักษณะนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อย ซึ่งหมอเฮนรี่เองก็ยอมรับถึงข้อเสียที่มี เช่น ท่านยอมรับว่า ตัวอักษรมีขนาดเล็กเกินกว่าที่ผู้สูงอายุจะอ่านได้ และใบปลิวบางชุดอธิบายพระกิตติคุณตามแนวแบบตะวันตก ซึ่งคนไทยเข้าใจได้ไม่ง่าย แต่ท่านเชื่อว่าใบปลิวบางอันเป็นพยานที่เหมาะสม และเชื่อว่าการมอบสิ่งนี้ให้ถึงมือของผู้คนจะเกิดผลได้ “นี่คือหนึ่งในวรรณกรรมที่ดีที่สุด ที่คุณสามารถจะมอบให้ใครก็ได้ในโลก” หมอเฮนรี่กล่าว พร้อมกับชูหนังสือเล่มเล็กในมือ

“ท่านไม่มีวาระอื่นใด นอกเหนือจากคุณ”

เมื่อผู้รับใช้ชาวไทยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพันธกิจของหมอเฮนรี่ พวกเขาต่างก็ชื่นชมในความทุ่มเทของท่าน “ท่านไม่เคยกล่าวว่า ต้องการกลับไปอเมริกา” อาจารย์ปฐมพรกล่าว “ท่านไม่เคยนับวัน เดือน หรือปี จนถึงช่วงเวลาพักตามกำหนดขององค์กร” ท่านทำสิ่งนี้ด้วย “ความรักที่ลึกซึ้งจากหัวใจเพื่อคนไทยทุกคน”

ทุกคนรู้จุดอ่อนของหมอเฮนรี่ นั่นคือบ่อยครั้งที่ท่านต้องรับผิดชอบงานรับใช้ที่มากมาย จนไม่ได้ดูแลตัวเองอย่างเพียงพอ มิตรสหายพยายามสอดส่องดูแลให้แน่ใจว่าท่านได้รับประทานอาหาร และมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ด้วยการที่เป็นอาจารย์และเป็นพี่เลี้ยงบางครั้งหมอเฮนรี่อาจเข้มงวดมาก และมีการสื่อสารที่ตรงเกินไปซึ่งอาจไม่เป็นที่ถูกใจของคนไทย

แต่คนทั้งหลายก็ยอมรับว่าหมอเฮนรี่มีใจถ่อมมากพอที่จะยอมรับความผิดพลาดและตั้งใจที่จะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยในลักษณะที่มิชชันนารีหลายคนไม่สามารถทำได้ บางทีสิ่งที่สำคัญกว่าคือความสามารถที่ท่านจดจ่อและทุ่มเทต่อนักศึกษาและผู้คนรอบข้างแต่ละคน

“ท่านเป็น (หนึ่งในคนจำนวนน้อย) ที่ผมขอคำปรึกษาเมื่อมีปัญหาและอธิษฐานด้วย” มิตรสหายคนไทยเก่าแก่ผู้หนึ่งกล่าว “เพราะท่านไม่มีวาระอื่นใด นอกเหนือจากคุณ”

ในขณะที่เวลาร่วมกันของเราใกล้จะหมดลง ผมได้เห็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงบุคลิกของหมอเฮนรี่ นั่นคือการมีวินัยฝ่ายวิญญาณ หมอเฮนรี่มีชื่อเสียงท่ามกลางคริสตจักรไทย ด้วยคติพจน์ที่ว่า “(ถ้า)ไม่อ่านพระคัมภีร์ ไม่กินอาหารเช้า” (No Bible, No Breakfast) ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นว่า ท่านรับประทานอาหารฝ่ายวิญญาณทุกเช้า ก่อนที่จะรับประทานอาหารฝ่ายร่างกาย และเกือบทุกครั้งหมอเฮนรี่จะจบการสนทนาด้วยการอธิษฐาน เมื่อการสัมภาษณ์ของเราจบสิ้นลง และผมลุกขึ้นยืนพร้อมจะเดินจากไป หมอเฮนรี่ไม่รอช้าที่จะเรียกผมไว้แล้วพูดว่า “ให้เราร่วมใจกันอธิษฐาน” แล้วก้มศีรษะลง มือประสานเข้าด้วยกัน เหมือนที่ท่านได้ทำมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

แปลโดย ดวงใจ จีระเดชากุล